วันศุกร์ที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2550

แนวโน้มในศตวรรษหน้า

แนวโน้มในอนาคตอันใกล้นี้ ทั้งคู่ ต่างก็เตรียมตัวที่จะฟาดฟันกันอีกครั้ง ด้วย CPU ระดับ 64 Bit โดยในขณะนี้ทาง Intel ก็ได้ประกาศตัว CPU ระดับ 64 Bit ออกมาแล้ว โดยให้ชื่อว่า Itanium ( หรือชื่อเดิมคือ Merced ) โดยได้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมภายในใหม่เกือบทั้งหมด .. ในขณะที่ทาง AMD ก็ได้เปิดตัว Sledgehammer ( หรือรู้จักกันในนาม K8 ) ที่เป็นสถาปัตยกรรมแบบ 64 Bit เช่นกัน ... แต่ยังคงยึดหลักสถาปัตยกรรม x86 เดิม

ก่อนที่จะเข้าสู่ CPU ระดับ 64 Bit นี้ ทาง Intel ก็จะทิ้งทวน CPU ระดับ 32 Bit ( IA32 ) ตัวรุ่นสุดท้าย ที่มีชื่อว่า Willamette โดยให้ฉายากันภายในว่า "Athlon Killer" หรือ "เพชรฆาต Athlon" ซึ่งก่อนหน้านี้ ตาม Roadmap ของ Intel เจ้า Willamette นี้ ควรจะต้องเปิดตัวในราวไตรมาสที่ 3 ของปี 2000 แต่ไปๆ มาๆ ทาง Intel ก็จำต้องเลื่อนกำหนดการ ให้เข้ามาอีก จนมีข่าวลือกันว่า ปลายๆ ปีนี้ คงได้มีการเปิดตัว Willamette แน่ๆ ... ดูเหมือนว่าทาง Intel เองก็ลนลานอยู่ไม่น้อยเหมือนกันนะครับ สำหรับการเปิดตัว Athlon ของ AMD

มาดูทางด้าน CPU ระดับ 64 Bit ( IA64 ) ของ Intel กันบ้าง ... ยักษ์ใหญ่ ผู้ครองตลาดมานาน ได้วางแผนไว้แล้ว ว่าจะออก CPU Itanium ในราวๆ กลางปี 2000 โดยจะทำการ เปลี่ยนแปลงสถาปัตยกรรมภายในของ CPU นี้ ใหม่หมด จนแทบไม่เหลือคราบของ x86 อีกเลย ... โดยเฉพาะในส่วนของชุดคำสั่งต่างๆ ที่มีการเปลี่ยนแปลงไปใช้ ชุดคำสั่ง EPIC ซึ่งทาง Intel ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับชุดคำสั่ง EPIC นี้ว่า เป็นชุดคำสั่งที่ออกแบบมาเพื่อ ผู้ออกแบบ ระบบ hardware โดยจะช่วยทำให้เข้าถึง hardware ได้ง่าย และ มีสมรรถภาพเหนือกว่า สถาปัตยกรรมเดิม x86 อยู่มาก ... รวมถึงประสิทธิ ภาพที่ได้นั้น ก็จะมากกว่าเดิมอีกด้วย ... โดยทาง Intel ก็ได้ยกตัวอย่างเพิ่มเติมว่า ชุดคำสั่ง EPIC นี้จะสามารถทำงานได้ทีละ 6 คำสั่ง ในช่วง สัญญาณนาฬิการอบเดียว ซึ่งมากกว่า ความเร็วของ Pentium III 32 Bit ในปัจจุบัน ที่ทำงานได้เพียงแค่ 1.5 ถึง 2 คำสั่ง ในช่วงเวลาเท่ากัน

ในด้านของสถาปัตยกรรมบ้าง ... Itanium นี้จะเป็น CPU ที่ใช้สถาปัตยกรรม IA-64 ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมแบบ 64 Bit ที่สนับสนุนทั้ง MMX และ SSE อย่างเต็มที่ รวมไปถึงยังสนับสนุน การทำงานแบบ 32 Bit ของ IA-32 อีกด้วย โดยเจ้า Itanium นี้ นอกจากจะมี Cache ระดับ 2 บนเวเฟอร์เดียวกันกับ CPU แล้ว ยังจะมี Off-Chip Cache ระดับ 3 ที่รองรับได้มากถึง 4 M อีกด้วย ( IMHO, Off-Chip Cache นี้ น่าจะเป็นเหมือนกับ Cache ระดับ 2 ที่มีอยู่ใน Pentium II หรือ Pentium III รุ่น ปัจจุบัน คืออยู่ใน Package เดียวกันกับ CPU แต่ไม่ได้อยู่ใน Chip CPU )

ก็ต้องยอมรับว่า Intel ใจเด็ดมาก ... เพราะเมื่อเปลี่ยนสถาปัตยกรรมใหม่ Software ที่ใช้ ก็ต้องเขียนใหม่ เพื่อให้รองรับกับสถาปัตยกรรมใหม่นี้ ไม่ว่าจะเป็น OS เช่น ต้องทำ 64 Bit Linux หรือ 64 Bit Windows เพื่อใช้สำหรับ Itanium ( EPIC ) ... หรือแม้แต่ Application ต่างๆ ก็จำเป็นต้อง เขียนใหม่ ให้สามารถใช้งานได้บน Itanium นี้

จริงๆ เหตุการณ์ทำนองนี้ Intel เองก็เคยทำมาแล้ว เมื่อคราวที่เปลี่ยนสถาปัตยกรรมจาก 486 ไปสู่ Pentium ... ซึ่งในตอนนั้น Intel ยังคงใช้พื้นฐานสถาปัตยกรรมจากทาง x86 อยู่ไม่ใช่น้อยๆ ก็เลยไม่มีปัญหาหนักเท่ากับคราวนี้ ...

ในด้านตลาดระดับกลาง และระดับล่าง Intel ก็ยังคงใช้ Celeron เป็นตัวบุกตลาดด้านนี้เช่นเดิม และคาดว่า จะมีการใส่ Technology SSE เข้า ใน Celeron อีกทั้งยังมีข่าวลือต่างๆ เกี่ยวกับ Celeron III อีกด้วย

ทางด้าน AMD Sledgehammer นั้น ก็มีแนวทางการพัฒนาที่แตกต่างไปอย่าง Intel Itanium อย่างสิ้นเชิง เพราะ AMD นั้น ยังคงใช้โครงสร้างหลัก จาก x86 เดิม เพียงแต่ได้ทำการแก้ไข ปรับปรุงในบางส่วน แล้วเรียกสถาปัตยกรรมใหม่นี้ว่า x86-64

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ทาง AMD ได้ให้ความเห็นว่า ในบางเวลา หรือ ในการใช้งานบางอย่างนั้น ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องใช้การประมวลผลแบบ 64 Bit เสมอไป เช่นงานด้าน Word Processing หรือ การปรับแต่ง/แก้ไข ภาพ เป็นต้น ดังนั้น ทาง AMD จึงยังคงให้ความสำคัญกับสถาปัตยกรรมเดิมคือ x86 อยู่ และยังให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ทาง Intel Itanium นั้น ก็ยังคงต้องใช้การจำลอง Mode การประมวลผลแบบ 32 Bit อยู่ดี เพื่อให้ใช้ได้กับ Application ที่ไม่ได้ออกแบบมาสำหรับ 64 Bit ... โดยทาง AMD ก็ได้กล่าวอีกว่า ผู้พัฒนา Application นั้น ก็คงไม่อยากเสียเวลาแก้ไขโปรแกรมให้ใช้งานแบบ 64 Bit นักหละ เพราะผลต่างของประสิทธิภาพที่ได้เพิ่มขึ้น ก็ไม่ได้มากมายนัก ไม่คุ้มกับการเสียเวลา

สิ่งหนึ่ง ที่น่าสนใจ ก็คือ ประสิทธิภาพใน Mode จำลองการประมวลผลแบบ 32 Bit ของ Itanium นี้ จะเป็นอย่างไร? ... ดีกว่า หรือว่า แย่กว่า การประมวล ผลแบบ 32 Bit ของ Pentium III รุ่นปัจจุบัน ... และเมื่อเทียบกับรุ่น Coppermine ล่ะ? จะเป็นอย่างไร ... คำถามนี้ ทาง Intel ได้ให้ความเห็นว่า จุดมุ่งหมาย หรือ ตลาดของ CPU ทั้ง 2 รุ่นนี้ ต่างกัน .. การออกแบบอะไรๆ ก็ต่างกัน ดังนั้น จะให้เอามาเปรียบเทียบกัน ก็คงเป็นไปไม่ได้ ...

ในตลาดระดับกลาง และระดับล่าง ... ทาง AMD ก็จะยังคงใช้ K6-2 และ K6-III เป็นคู่หัวหอก ในการถล่มตลาดระดับนี้ โดยจะมี K6-2+ ซึ่งเป็น CPU K6-2 เดิม แต่มีการเปลี่ยนแปลงสถาปัตยกรรมภายในบ้างอีกเล็กน้อย และมีข่าวออกมาบ้าง ว่า AMD จะยุติสายการผลิต K6-III แล้วหัวมา ใช้หัวหอกตัวเดียว คือ K6-2+ แทน เพราะ K6-2+ นั้นก็จะมี On-Die Cache เช่นเดียวกับ K6-III แล้ว แถมยังใช้เทคโนโลยีการผลิตขนาด 0.18 ไมครอน อีกด้วย ซึ่งก็คาดว่า จะเริ่มเข้าบุกตลาดในราวๆ ต้นปี 2000

ด้านการตลาด

ทุกวันนี้ การแข่งขันด้านตลาด CPU ของ AMD และ Intel รุนแรงมาก ทั้งแข่งกันด้วย เทคโนโลยี และ ลูกเล่นทางการตลาดมากมาย

แต่ด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ นั้น ต้องอาศัยเวลาในการพัฒนาอยู่ไม่ใช่น้อยๆ ดังนั้น กลไก การแข่งขัน ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ก็คือ กลไก ในเรื่องของราคา ซึ่งมีการลดราคา ห้ำหั่นกันอย่างรุนแรงเลยทีเดียว

จากการที่ Intel ได้ประกาศหั่นราคา CPU ของตน ทั้ง Pentium II/III และ Celeron ลงอย่างหนัก และประกาศหั่นราคาลงถี่มากๆ ทำให้ AMD เอง ก็ต้องหั่นราคาของตนลงด้วย เพราะ ในเมื่อ คุณภาพ ไม่ทิ้งกันมาก แต่หากราคาพอๆ กัน ก็จะทำให้ผู้ซื้อ ตัดสินใจลำบาก หรือ หากว่า คุณภาพด้อยกว่า เล็กน้อย แต่ราคาพอๆกัน ผู้ซื้อ ก็ไม่ลังเลเลย ที่จะซื้อของที่มีคุณภาพสูงกว่า จริงไหมครับ?

ดังนั้น เมื่อ Intel ประกาศหั่นราคาลง ทาง AMD ก็จำเป็นต้องหั่นราคาลงด้วย ไม่ว่าจะเต็มใจ หรือ ไม่เต็มใจก็ตามที ผลที่ตามมานั้นก็คือ ผลกำไรลดลง

จากรายงานทางการตลาดของ AMD ในไตรมาสที่ 2 ของปี 1999 นี้ สิ้นสุดเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน ผลปรากฏว่า AMD มียอดขาดทุนสุทธิถึง 163 ล้าน USD จากยอดขายทั้งหมด 595 ล้าน USD ซึ่งจัดว่าเป็นมูลค่าไม่ใช่น้อยๆ เลยทีเดียว ยิ่งเมื่อเทียบกับเมื่อไตรมาสแรก ที่มียอดขาดทุนเพียงแค่ 65 ล้าน USD เท่านั้น

W.J. Sanders ซึ่งเป็นประธาน และ CEO ของ AMD ได้ชี้แจงให้เห็นว่า เมื่อปีที่ผ่านมา ( 1998 ) AMD สามารถ ทำกำไรจาก CPU ของตนได้ถึงตัวละ 100 USD เลยทีเดียว แต่แล้วเมื่อมีสงครามการห้ำหั่นราคากันหนักข้อขึ้น ก็ทำให้กำไรจาก CPU ของตนเหลือเพียงตัวละ 78 USD และ ท้ายสุดก็หล่นมาเหลือเพียง 6 USD เท่านั้น

ดังนั้นหากมีสงครามห้ำหั่นราคากันอย่างหนักต่อไป ก็คงเป็นปัญหากับทาง AMD แน่นอน ...

แล้ว ปัญหานี้ไม่เกิดกับ Intel หรือ? เกิดครับ เกิดแน่นอน ... แต่ไม่มีผลกระทบที่หนักเท่ากับ AMD เพราะ Intel นั้นเป็นบริษัท ที่ใหญ่กว่า และ มีโรงงานผลิตที่ใหญ่ และ มากกว่า ดังนั้นต้นทุนในการผลิต และ การบรรจุ Package ก็น้อยกว่า ถึงแม้ว่า จะได้กำไรน้อยลง จากสงครามการหั่นราคา แต่ก็ไม่ทำให้ Intel สูญกำไรไปเสียทีเดียว เพราะ อย่างไรซะ Intel ก็ยังคงได้กำไร ในส่วนของ CPU สำหรับ High-End Computer หรือ Server ในตระกูล Xeon มากกว่า เพราะถึงแม้จะคู่แข่งอย่าง SUN แต่ก็ไม่ได้ก่อสงครามการหั่นราคา เพื่อแย่งตลาดกันรุนแรง เหมือนกับ Low-End Computer ทำให้ทาง Intel ยังมีกำไร และ ได้ผลบวกตรงจุดนี้อยู่



ด้านเทคโนโลยี

ในด้านเทคโนโลยี ถึงแม้ว่า จะมีการแข่งขันกันช้ากว่าด้านการตลาด แต่ก็ได้มีการบอกถึงแผนงานต่างๆ รวมถึง แผนการออกแบบ CPU เพื่อมาข่มขวัญกันอยู่เป็นระยะๆ มีการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามา เพื่อใช้เป็นจุดขาย และ เป็นจุดเด่นของ CPU ของตน

ทุกวันนี้ AMD ก็ได้แก้คำครหา ว่าเป็นผู้ตามหลัง Intel ในด้านเทคโนโลยี ได้แล้ว เพราะสามารถสร้าง CPU ของตน ให้ก้าวล้ำนำ Intel ไปบ้างแล้ว แม้ว่าจะติดปัญหาด้านอื่นๆ ไม่ใช่น้อยๆ ก็ตามที แต่ถ้ามองเฉพาะด้าน CPU แล้ว ก็นับว่า AMD ทำได้สำเร็จ โดยเฉพาะด้านการประมวลผลเชิงทศนิยมที่สามารถพัฒนา และ ปรับปรุงให้ดีขึ้นมา ทัดเทียม หรืออาจจะเหนือกว่า Intel ในบางด้านแล้ว นอกจากนั้น ยังมีแผนงานสำหรับ CPU รุ่นใหม่ๆ เทคโนโลยีใหม่ๆ และ ระดับความเร็วสูงๆ ออกมาเกทับทาง Intel อยู่เป็นระยะๆ

ส่วนทางด้าน Intel เอง ก็ไม่ได้น้อยหน้า โดยการชิงเปิดตัว CPU ที่ใช้เทคโนโลยีการผลิต 0.18 ไมครอนก่อนทาง AMD และยังมี เทคโนโลยีใหม่ๆ ออกมาอยู่เสมอ ผลัดกันรุก ผลัดกันรับ ... ผลัดกันเกทับอยู่เป็นระยะๆ ...

ด้านเทคโนโลยีนี้ คงหาผู้ชนะกันลำบาก เพราะผลัดกันแพ้ ผลัดกันชนะอยู่เป็นช่วงๆ ผู้แพ้ ผู้ชนะ ก็เป็นแค่ช่วงเวลาหนึ่งๆ เท่านั้น

บทสรุป และ ความเห็นส่วนตัว


ดูเหมือนว่า ต่างฝ่าย ต่างก็งัดเอาอาวุธใหม่ๆ เข้ามาห้ำหั่นกันอยู่เป็นระยะๆ นะครับ ดูแล้วไม่น่าจะจบสิ้นกันง่ายๆ ทาง Intel เองนั้น ก็คงจะลำบากหน่อย เพราะว่าต้องรับมือหลายทาง ทั้ง ด้านตลาด Desktop PC ที่ต้องรับมือกับทั้ง AMD และ Cyrix ( VIA ) ตลาด Chipset แข่งกับทาง ( VIA และ ALI ) และรวมไปถึงตลาดเครื่อง Server ที่มีคู่แข่งอีกหลายเจ้า ทั้ง SUN และ Compaq ( Alpha ) แต่ในขณะที่ทาง AMD นั้น แม้จะมี Chipset ของตนเองออกมาบ้างแล้ว และ พยายามจะผลักดัน CPU ตัวใหม่ๆ ของตนให้เข้าสู่ตลาด Server ด้วย แต่ก็ยังไม่เน้นหนักไปทางนั้นสักเท่าไร

โดยความเห็นส่วนตัว ณ เวลานี้ ความเร็วของ CPU ดูเหมือนจะไม่ค่อยมีผลกับความรู้สึกในการทำงานแล้ว แม้ว่าจะเพิ่มความเร็วกันให้ถึงระดับ 1 GHz ก็ไม่ให้ความรู้สึกว่าเร็วขึ้นจาก 300 MHz สักเท่าไร เพราะเทคโนโลยีด้านอื่นๆ ยังคงเป็นตัวหน่วงให้ระบบอยู่ อย่างน้อยๆ ก็ Harddisk ละครับ ที่ยังคงเป็นตัวหน่วงความเร็วของระบบมาช้านานแล้ว ดังนั้น ถ้าทาง AMD จะหันมาสนใจด้านการตลาดบ้าง หาพันธมิตรทางการค้าเพิ่มเติมบ้าง ก็จะดีกว่านี้ไม่น้อย ... เพราะทุกๆวันนี้ แม้เทคโนโลยีจะทัดเทียม หรืออาจจะนำหน้าทาง Intel ไปบ้างแล้ว แต่ด้านการตลาดยังคงตามหลัง Intel อยู่หลายก้าวเลย ...

จะอย่างไรก็ดี แม้ว่าเทคโนโลยีของทุกวันนี้ จะเป็นไปอย่างรวดเร็ว มีการคิดค้นสถาปัตยกรรมใหม่ๆ อยู่เสมอ และ มีการแข่งขันกันทางตลาด อย่างมาก ทั้งเรื่องราคา และ เรื่องการโฆษณาชวนเชื่อต่างๆ นาๆ เพื่อให้หันมาใช้ CPU รุ่นใหม่ๆ อยู่เสมอ แต่ก็ไม่จำเป็นเสมอไป ที่เราจะต้อง ตามซื้อ เพื่อไล่ตามให้ทันเทคโนโลยีอยู่เสมอไป ... ทั้ง AMD และ Intel แข่งขันกัน ผลดีนั้นตกอยู่ที่ผู้บริโภค เพราะจะได้ซื้อ CPU คุณภาพดี ให้เหมาะสมกับงานที่ใช้ และ ราคาไม่แพง แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับความเหมาะสมในการเลือกซื้อ / เลือกใช้ด้วย

บทความนี้ คงจะขอจบลงที่ตรงนี้ แต่ สงครามการแข่งขันชิงความเป็นเจ้าตลาดของ AMD และ Intel ยังไม่จบ ยังคงมีอยู่ต่อไปเรื่อยๆ หากว่ามีข้อมูล ทั้งด้านการตลาด และ ด้านเทคโนโลยี เข้ามาเพิ่มอีกมาก ก็อาจมีภาค 2 ต่อ ก็เป็นได้ ...

แต่อย่างไรซะ ก็อยากฝากข้อคิดไว้สักข้อ ( แม้จะไม่เกี่ยวกับเรื่องนี้สักเท่าไร ) ก็คือ " เราควรจะรู้ให้เท่าทันเทคโนโลยี แต่ ไม่จำเป็นจะต้อง ทำตัวตามให้ทันเทคโนโลยีเสมอไป " ขอบคุณครับ

ไม่มีความคิดเห็น: